"พลอยหลังเบี้ย หลังเต่า" -เสน่ห์เหลี่ยมพลอยโบราณที่ถูกลืม
"ถ้าลองย้อนกลับไปดูในยุคหนึ่งสมัยหนึ่งที่เราเริ่มขุดหาพลอยกัน...
พลอยสวยๆหลายๆเม็ด หลายๆสี เริ่มถูกเจียระไนโดยการขัดเงาจากทรงลูกปัด พัฒนาสู่การขัดเงาเป็นทรงหลังเต่า หรือหลังเบี้ย ก่อนจะนำมาประกอบตัวเรือนเครื่องประดับ
และในเวลาต่อมาก็ได้พัฒนาฝีมือจนมาถึงการเจียระไนแบบเหลี่ยมหน้ากระดาน (Facet Cut) ที่เราเห็นๆอย่างทุกวันนี้
และด้วยการเจียระไนในยุคปัจจุบัน ย่อมพิสูจน์แล้วว่า...
งานเจียระไนที่ดีย่อมช่วยสะท้อนความสวยของ “สีพลอย” “ความใสของเนื้อพลอย” รวมจนถึง “ประกายวิบวับในพลอย” จนดึงศักยภาพความสวยของพลอยแต่ละเม็ดออกมาแสดงได้อย่างเต็มที่ และการเจียระไนรูปแบบนี้นี่เองที่เป็นที่นิยมและต้องการ จนทุกคนรู้จักกันดีในนาม Brilliant Cut
และความนิยมงานเจียระไนที่ว่ามานี้ ก็ค่อยๆเริ่มลดบทบาทของเหลี่ยมเจียระไนหลังเต่า (Cabochon Cut) ลงเรื่อยๆ จนเหลือผู้เจียระไนรูปแบบนี้น้อยลงทุกวัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสิบปีหลังมานี้...
เมื่อกระแสการสะสมพลอยสวยเริ่มเข้ามาเป็นที่นิยม การขุดเจอพลอยสวยๆก็เริ่มลดลง นั่นย่อมส่งผลให้ต้นทุนราคาพลอยเพิ่มสูงขึ้นกันทุกวัน
ปัจจัยเหล่านี้ก็ยิ่งทำให้การเจียระไนแบบ “Brilliant Cut” เพิ่มความสำคัญในการช่วยเพิ่มมูลค่าพลอยสวยๆมากขึ้น ตามต้นทุนพลอยที่ขยับขึ้นกันทุกวัน
จนเป็นที่รู้กันดีว่า...
เมื่อมีพลอยก้อนสวยๆ เนื้อใสๆ คุณภาพดีๆ หรือที่พ่อค้าพลอยมักเรียกกันว่า “พลอยน้ำ” เข้ามา พลอยกลุ่มนี้ก็มักถูกวางแผนนำมาเจียระไนแบบ “Brilliant Cut” ในทันที
แต่ถ้าหากพลอยก้อนที่ได้มานั้นมีคุณภาพลำดับรองๆลงมา ซึ่งเมื่อประเมินแล้วคาดว่า หลังจากเจียระไนเสร็จแล้วอาจจะมีตำหนิที่หนักเกิน เห็นชัดเกินไป หรือตำหนิประเภทหมอกควันในเนื้อเยอะเกิน จนขายยากแล้ว
เจ้าของพลอยก็มักวางแผนนำมากลิ้งขัดเป็น "พลอยหลังเบี้ย" ซึ่งก็จะช่วยเน้นความสวยของ “สีสันพลอยเม็ดนั้น” ทดแทน
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมช่วงหลังเมื่อพลอยคุณภาพดีๆเริ่มมีปริมาณลดลง ราคาพลอยสวยๆถีบตัวสูงขึ้น และการเจียระไนแบบ Brilliant Cut ได้เป็นที่นิยม
"เราจึงมักไม่ค่อยเห็นพลอยรูปทรงหลังเต่า (Cabochon Cut) ที่มีความสวยงาม เนื้อใสๆ สีพลอยดีๆแบบโบราณมาให้เห็นกัน แต่กลับพบพลอยหลังเต่าที่มีคุณภาพเนื้อพลอยลำดับรองๆลงมา"
และคุณรู้ไหมว่า...
“ต้นทุนพลอยคุณภาพรองที่ว่า ก็มีต้นทุนที่ถูกกว่า ดังนั้นพลอยที่กลิ้งเป็นหลังเบี้ยเสร็จจึงมักมีราคาถูกกว่าพลอยที่ทำเหลี่ยมเจียระไน”
และด้วยเหตุผลข้อนี้เอง... ที่ทำให้หลายๆคนพยายามเลี่ยงการทำพลอยหลังเบี้ย และหันมาจับงานเจียระไนเหลี่ยมพลอย Brilliance Cut แทน
เพราะถึงแม้คุณภาพพลอยที่มีจะไม่ค่อยสวยงามก็ตาม แต่ก็เชื่อว่าน่าจะขายได้ราคามากกว่าการกลิ้งพลอยทำหลังเบี้ย เพราะอยู่ในกระแสความต้องการ และนี่จึงทำให้คุณมักซื้อพลอยผิดพลาดด้วยความไม่รู้กัน
และคุณคงเคยสงสัยในใจไหมว่า...
“ทำไมเราจึงมักพบพลอยรูปทรงหลังเบี้ย หรือ หลังเต่า ในกลุ่มพลอยจำพวกทับทิม และมรกตมากมายในท้องตลาด”
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพลอยในกลุ่มนี้ เดิมทีในธรรมชาติก็พบตำหนิ หรือมลทินธรรมชาติที่ค่อนข้างสูงอยู่
จึงมักนิยมนำมาเจียระไนหลังเต่าเพื่อช่วยลดการมองเห็นตำหนิที่มากเกิน ทำให้มองเห็นแบบไม่สะดุดตา
นอกจากนี้แล้ว ก็ยังพบอีกว่า...
“กลุ่มพลอยเผาใหม่ ชนิดอุดแก้วตะกั่ว (Lead glass filled)” เช่นพลอยทับทิม ไพลิน บุษราคัม (เผาใหม่ อุดแก้วตะกั่ว) ก็มักนิยมนำมาทำพลอยหลังเบี้ย หรือหลังเต่าเช่นกัน
เหตุผลก็เพราะเรื่องตำหนิที่มีมากเช่นกัน และในเนื้อพลอยเอง ยังพบการอุดแก้วตะกั่วทั่วทั้งก้อนพลอย ซึ่งการอุดแก้วก็มีไว้เพื่อสมานรอยแผลแตกภายในเนื้อพลอย
“การเจียระไนทรงหลังเต่า” จึงช่วยเพิ่มความแข็งแรงต่อผลึกพลอยไม่ให้เกิดการแตกลั่นได้โดยง่ายเช่นกัน และเป็นเหตุผลว่า “ทำไมพลอยหลังเบี้ยสวยๆ จึงพบในกลุ่มพลอยเผาใหม่กันเป็นประจำด้วยเช่นกัน”
และคุณรู้ไหมว่า...
*เรายังมีพลอยอยู่บางชนิดที่มีความจำเป็นต้องเจียระไนเป็นทรงหลังเต่า ซึ่งได้แก่พลอยจำพวกหยก โรสควอทซ์ คาลซิโดนี เนฟไฟร์ท เป็นต้น
ทั้งนี้เนื่องจากพลอยที่ว่ามีลักษณะเนื้อพลอยเป็นอนูเล็กๆที่มองดูคล้ายหมอกควันกระจายในเนื้อพลอย (ในทางอัญมณีศาสตร์ เราจัดอยู่ในโครงสร้างผลึก Aggregate)
และถ้าเราฝืนทำพลอยกลุ่มนี้เป็นพลอยเหลี่ยมเจียระไนแล้วละก้อ พลอยก็จะดูออกตันๆ แลดูไม่สวยงามไปเลย
นอกจากนี้แล้ว...
*การเจียระไนหลังเต่า (Cabochon) ยังจำเป็นสำหรับกลุ่มพลอยที่เราต้องเจียระไนเพื่อให้แสดงปรากฎการณ์ธรรมชาติ
เช่นปรากฎการณ์ตาแมว (Chatoyancy, Cat-Eye), ปรากฎการณ์สาแหรก (Star), การแสดงเหลือบสีต่างๆในพลอยมุกดาหาร (Moonstone) และพลอยแลบราโดไรท์ (Labradorite), Sun Stone เพื่อให้สะท้อนปรากฎการณ์ต่างๆออกมาเป็นต้น
และนี่จึงเป็นการรวบรวมเรื่องราวของ Cabochon Story ที่มีทั้งมุมที่ดี และมุมที่เปลี่ยนไป ที่วันนี้ผมนำมาเล่าให้ฟังกัน
น้ำหนึ่งเจมส์
รับรองสมาชิกโดย
#สมาคมผู้ค้าอัญมณี และเครื่องประดับ จันทบุรี
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
Comments